การเล่นของลูก และวิธีเลือกซื้อของเล่น

การเล่นเป็นเรื่องสำคัญ

การเล่นของเด็กไม่ใช่เพื่อความสนุกหรือเป็นการฆ่าเวลา แต่เป็นการเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และการสร้างสรรค์ที่ดี เช่น เราจะเห็นเด็กๆ เอาแท่งสี่เหลี่ยมมานั่งต่อเป็นรูป สะพานบ้าง เครื่องบินบ้าง เรือบ้าง เด็กจะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ ขณะเป็นทารก รู้จักกับของเล่นที่เขย่ามีเสียงดังๆ เปลี่ยนมือซ้ายที ขวาที รู้จักคลานขึ้นบันได รู้จักของเล่นที่ลากได้ ลากวัตถุไปตามพื้นห้อง ทำเหมือนเป็นรถไฟ เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้เหมือน เด็กโตๆ เรียนวิชาเรขาคณิต เขาจะเรียนรู้มากขึ้นทุกๆวัน จากการเล่นของเขา คุณพ่อคุณแม่จึงมีบทบาทในการเลือกของเล่นของลูกให้เหมาะสม กับการพัฒนาตามวัยอันควรของลูก

เด็กอายุ 1ปี บางคนเบื่อจะเล่นอยู่กับแท่งสี่เหลี่ยม แต่พยายามจะเอาหม้อ เอาชามใส่เข้าด้วย เหตุผลประการหนึ่ง คือ ลูกเห็นแม่ปรุงอาหาร ทำธุระอยู่ในครัว อยู่กับหม้อข้าวหม้อแกง แม้ไม่ไดเล่นแท่งสี่เหลี่ยมแกก็อยากจะเล่นหม้อข้าว หม้อแกงบ้าง เด็กวัยนี้ จะชอบดูดคุณพ่อของแกสูบบุหรี่ และชอบเอาขนมปังแท่งยาวๆ มาอมคล้ายการสูบบุหรี่ของคุณพ่อนั่นเอง

เลือกของเล่นธรรมดาสำหรับลูก

เด็กๆ ชอบของเล่นที่ไม่ยุ่งยากสับสน เพราะเด็กๆ ชอบมีความคิดความฝัน เช่น มีรถไฟ 2 คัน สำหรับเด็ก คันหนึ่งทำด้วยโลหะ อย่างดีมาก ทาสีจนเหมือนของจริง วิ่งบนรางได้จริง อีกคันหนึ่ง ทำด้วยไม้ธรรมดา ต่อกันง่ายๆ เด็กๆ จะเล่นคันที่เหมือนของจริงสัก ครั้งสองครั้ง โดยการผลักให้เลื่อนไป ข้างหน้า แล้วก็เห็นว่ามันทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ใหม่ๆ แกจะสนใจไม่นาน แกจะเลิกเล่น แต่รถไฟทำด้วยไม้ที่ต่อกันเป็นขบวนยาวๆ น่าสนใจกว่า แกอาจจะหาเชือกมาร้อย ต่อกันเป็นขบวนยาวๆ หรือขบวนสั้นๆ พอเบื่อเล่นบนพื้นก็เอากะละมังมาใส่ท่อนไม้นี้ สมมติให้เป็นเรือหลายๆ ลำ เล่นได้นานๆ

คุณพ่อคุณแม่ที่เบี้ยน้อยหอยน้อย บางคนน้อยใจว่า ไม่มีเงินซื้อรถยนต์คันจิ๋วๆ งามๆ ให้ลูกถีบเล่น ในบ้าน ความจริงเด็กๆ อาจจะใช้กล่องกระดาษแข็งๆ หรือกล่องไม้ฉำฉาที่ใช้แล้วแต่งเป็นบ้าน เป็นเตียง เป็นป้อมค่าย เป็นเรือ เป็นบ้านตุ๊กตา เป็นที่จอดรถได้อย่างสบายๆ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาว่างวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ประดิษฐ์ของถูกๆ ให้ลูกเล่น กระป๋องแป้งที่ใช้แล้วอาจนำมาเติมล้อ 4 ล้อ ดัดแปลงเป็นรถไฟให้ลูกเล่นได้ ไม่มีอะไรก็ตัดก้านกล้วยมาสับเป็นปืนเป็นม้าให้ลูกขี่เหมือนสมัยโบราณก็ได้ สมัยหมอเป็นเด็กยังเคยเล่นก้านกล้วยเลยค่ะ

เด็กควรจะเล่นของเล่นที่เหมาะกับวัย

คุณควรรู้ว่าในวัยต่างๆ ลูกอยากเล่นอะไรบ้าง ผู้ใหญ่มักจะสร้างของเล่นให้ยากและสับสน คุณแม่ซื้อตุ๊กตาให้ลูกแต่งตัวอย่างวิจิตรพิสดาร มากมายหลายชั้น บางคนซื้อดินสอสีมากมาย พร้อมทั้งรูปวาดยากๆ แต่เด็กเล็กๆ จะเลือกดินสอเพียงแท่งเดียวแล้วขีดๆ ลากๆ ไม่ตรงตามรูปในหนังสือ เพราะของเล่นชิ้นนี้ยากไปสำหรับแก บางทีก็เชียร์ให้ลูกใช้สีมากๆ แต่ลูกอาจจะใช้สีส้มระบายเป็นท้องฟ้า และหญ้าก็อย่าตกใจ

คุณพ่อบางคนอุตส่าห์ซื้อรถไฟขบวนหนึ่งแพงๆ มาให้ลูกอายุ 2 ขวบ ลูกไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร คุณพ่อก็เริ่มต่อให้ สอนลูกให้เอาของบรรทุกใส่รถไฟ ลูกไม่เข้าใจก็คว้าได้ก็ขว้างไปข้างฝา คุณพ่อร้องเสียงหลง อย่าๆ ตลอดเวลา "ลูกต้องทำอย่างนี้น่ะ เอาสินค้าใส่รถพ่วงแล้วมันจะวิ่ง ไหนลูกลองทำดูซิ" เด็ก 2 ขวบ ยังไขลานไม่ได้ ของเล่นยากไป คุณพ่อก็รำคาญรอตั้ง 15 นาที ลูกก็ยังเล่นไม่เป็น คุณหนูเกิดรำคาญ เจ้ารถไฟ ขบวนนี้เสียแล้ว "ดูซิเราทำอะไรคุณพ่อ ไม่ถูกใจเลยสักอย่าง ไปหาของเล่นอื่นดีกว่า" คิดแล้วหนูน้อยก็เลิกสนใจ เดินจากไปอย่างสง่าผ่าเผย ปล่อยให้คุณพ่อเล่นอยู่คนเดียว

คุณพ่อบางคนเล่าให้หมอฟังชีวิตตอนเด็กๆ แสนลำบากยากจน ดูเพื่อนมีของเล่นดีๆ เห็นแล้วอยากได้เหลือกิน วันหยุดก็ไปอยู่ตามร้านของเล่น แล้วชื่นใจแต่ไม่มีโอกาสซื้อ พอเรียนจบมีครอบครัวตั้งใจจะให้ลูกเมีย มีความสุขที่สุด เห็นของอะไรที่ตัวองเคยชะเง้อดูสมัยเด็กๆ ต้องพยายามเก็บสตางค์ซื้อมาให้ลูกจนได้ แต่ลูกก็ยังเล่นไม่เป็น เพราะเล็กเกินไป สรุปแล้วคุณพ่อก็นั่งเล่นเอง ให้สาสมกับความยากได้

เด็กที่รู้วิธีแต่งตัวอย่างถูกต้องเสมอ ระบายสีได้เอง และเล่นรถไฟอย่างถูกวิธี ตามความพร้อมของเขาเอง เขาจะเรียนรู้ คุณไปกำหนดกฏเกณฑ์ไม่ได้ คุณจะไปพยายามทำให้เขาทำสูงกว่าระดับความสามารถไม่ได้ จะทำให้เขารู้สึกหมดความสามารถ จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ถ้าคุณผู้ใหญ่อยากจะเล่นกับเด็ก ต้องระวังระดับความสามารถให้เท่าๆ กัน มิฉะนั้น เขาจะเสียใจ ถ้าคุณสอนเขาอยู่ตลอดเวลา เล่นอะไรๆ คุณก็ชนะอยู่เรื่อยๆ เมื่อคุณซื้อของเล่นให้ลูกควรจะช่วยเขาหน่อยเท่านั้น ถ้าเขาขอร้อง อย่าบังคับให้เขาทำอะไรตามที่เราต้องการ ถ้าเขาอยากจะเล่นไปอย่างผิดๆ ก็ตามใจ พอเขาอายุมากขึ้นเขาจะเล่นอย่างถูกต้อง อย่าห่วงเลย

  • เด็กทารก เริ่มใช้มือ 2 ข้างไขว่คว้าของสีสวยๆ เช่น ปลาตะเพียนหรือโมบายล์ ที่แขวนไว้ข้างหน้า หรือแท่งพลาสติกสวยๆ ที่แขวนไว้หน้าเตียง
  • อายุ 1 ปี - 1 ปีครึ่ง ชอบเอาของเล็กใส่ของใหญ่มาก ชอบดึง ชอบลาก ชอบผลักไปข้างหน้า คุณอาจเอากล่องกระดาษมาห่อด้วยกระดาษสวยๆ เอาเชือกผูกล่ามไปข้างหน้าให้ลูกดึง มีของเล่นรูปสัตว์ดึงไปข้างหน้าได้ ตุ๊กตานิ่มๆ ตุ๊กตาสัตว์นุ่มๆ น่ารัก เด็กชอบในระยะนี้
  • พอถึงวัย 2 ปี จะชอบการเลียนแบบมาก ลูกจะต้องหางานทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำเสมอๆ เช่น การปัดกวาด การซักผ้า ล้างถ้วยชาม โกนหนวด สูบบุหรี่ อ่านหนังสือพิมพ์
  • อายุเกิน 2 ปี จะมีความรู้สึกสร้างสรรค์ เช่น เล่นบ้านช่องเครื่องเรือน ตุ๊กตา เล่นรถยนต์คันเล็กๆ สร้างบ้าน สร้างรถยนต์ เรือบิน สัตว์ประหลาด ชิงช้า
อ่านต่อ

ท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) หรือ "การตายเฉียบพลันในเด็กทารก" พบได้ในทารกอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึง 1 ปี เป็นการเสียชีวิตที่ไม่หราบสาเหตุ ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากอะไร โดยเด็กส่วนมากมักจะเสียชีวิตในขณะที่นอนหลับสนิท ดังนั้นการป้องกันเบื้องต้นจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้หนึ่งในนั้นก็คือท่านอนของลูกน้อย สำหรับท่านอนที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต ได้แก่ "การนอนหงาย" ค่ะ ผลการวิจัยพบว่าการที่ให้ลูกนอนคว่ำนั้น มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่ามาก โดยเฉพาะเด็กทารกที่ยังไม่สามารถพลิกศีรษะได้ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะขาดอากาศหายใจได้นั่นเองค่ะ ในกรณีที่ลูกน้อยมักพลิกตัวจากท่านอนหงายไปเป็นท่านอนคว่ำอยู่บ่อยๆ นั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยดูและคอยจับท่านอนลูกให้เป็นท่านอนหงาย การเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอย่าง "หมอนจัดท่านอน" (baby sleep positioners) ก็เป็นตัวเลือกที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนนิยมค่ะ เพราะช่วยผ่อนแรง และลดความถี่ของคุณพ่อคุณแม่ ในการต้องมาดูลูกน้อยในระหว่างที่เค้านอนหลับสนิทได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรระวังสำหรับการนอนหลับของลูกน้อย เช่น
  • ที่นอนและหมอนต้องไม่นุ่มจนเกินไป เพราะที่นอนและหมอนที่นุ่มมากๆนั้นจะทำให้ตัวและศีรษะของลูก จมลงไปเมื่อลูกนอน และอาจทำให้หายใจไม่ออกได้
  • ในขณะที่ลูกนอน ควรนำของเล่น ตุ๊กตา ผ้า หรือของที่ไม่จำเป็นออกจากที่นอนของลูก เพื่อป้องกันไม่ให้ สิ่งของเหล่านั้นไปปิดจมูกลูกน้อยในขณะนอนหลับ
  • ไม่สูบบุหรี่ในบริเวณที่ลูกน้อยอยู่
  • คุณพ่อคุณแม่อาจนำลูกมากล่อมที่โซฟาหรือที่เตียงของคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่เมื่อลูกน้อยหลับแล้ว ไม่ควรให้ลูกน้อยนอนบนที่นอนเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ หรือบนโซฟา ควรให้นอนบนที่นอน หรือเตียงของลูกโดยเฉพาะ และควรนำที่นอน หรือเตียงของลูกมาไว้ในห้องนอนเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถช่วยเหลือได้ทัน
  • ปรับอุณหภูมิของห้องให้พอเหมาะ ไม่หนาวหรือไม่ร้อนจนเกินไป การห่มผ้าให้ลูกน้อยนั้น ควรห่มให้สูงถึงแค่ระดับหน้าอก ไม่ควรห่มผ้าปิดศีรษะลูกน้อย หากกลัวว่าลูกน้อยจะหนาว ก็ควรให้สวมหมวกให้ลูกน้อยแทนค่ะ นอกจากนี้ผ้าห่มที่ใช้ก็ควรเป็นผ้าห่มสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพราะผ้าห่มที่หนา และหนักของผู้ใหญ่อาจไปกดทับหน้าอกลูกน้อย ทำให้หายใจไม่ออกได้ และเพื่อความปลอดภัย ควรสอดปลายทั้งสองด้านของผ้าห่ม ไว้ใต้เบาะที่นอนของลูกด้วยนะคะ
อ่านต่อ

การหลับนอนของเจ้าตัวน้อยแต่ละช่วงวัย

การหลับของทารกแรกคลอด

ช่วงเดือนแรกๆ ในชีวิตของทารก เราจะเห็นว่า เค้าหลับอยู่เกือบตลอดเวลา แต่เชื่อไหมคะว่า ทุกครั้งที่เค้านอนหลับอยู่นั้น เค้าไม่ได้หลับสนิทจริงๆ เลยสักครั้ง ทั้งยามหลับยามตื่น สมองน้อยๆ ของลูกจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เค้าเรียนรู้ได้แม้ยามหลับ!!! ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะนักวิจัยได้ทำการวัดคลื่นสมองทารกแรกคลอด พบว่าคลื่นสมองของทารกในขณะตื่นและหลับมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากทีม วิจัยจึงแนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่า เวลาลูกหลับไม่จำเป็นต้องทำห้องทั้งห้องให้อยู่ในความเงียบสงบเสมอไป การเปิด-ปิดไฟ เปิดเพลงเบาๆ หรือแม้แต่การพูดคุยกันสามารถทำได้ เพราะเขาอาจกำลังเงี่ยหูฟัง และเรียนรู้ผ่านเสียงที่ได้ยินอยู่ก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นเสียงคุณพ่อคุณแม่ที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้วล่ะก็ ยิ่งจะช่วยทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจขึ้นได้อีกด้วย

การหลับของทารกวัย 2-5 เดือน

หลังจากที่วัดคลื่นสมองของทารกแรกคลอด นักวิจัยได้สังเกตอากัปกิริยาของทารก อายุ 10-20 สัปดาห์ ระหว่างหลับพบว่า เค้าจะไม่อยู่นิ่งเลย หากเป็นการหลับในช่วงกลางวัน ภายในครึ่งชั่วโมงเขาจะเคลื่อนไหวร่างกายเฉลี่ยแล้ว 10.5 นาที และหากเป็นช่วงกลางคืน เขาจะเคลื่อนไหวถึง 24.4 นาทีเลยทีเดียว ถ้า คุณลองสังเกตท่าทางของลูกวัยนี้ในยามหลับ จะพบว่าเค้ามักทำท่าขยับปากคล้ายจะขอนม ขมวดคิ้ว ทำหน้าย่น หรือยิ้ม อาการที่แสดงออกมาเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าเขากำลังฝันดี ฝันร้าย หรือว่าหิวหรอกค่ะ ที่เขามีสีหน้าท่าทางต่างๆ กันออกไปนั้น เป็นหนึ่งในพัฒนาการของกล้ามเนื้อใบหน้าต่างหาก

วัย 6 เดือน หนูฝันเป็นแล้ว

เด็กๆ ฝันหรือไม่ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ใช่ไหมคะ เราจะพาคุณๆ ไปพบคำตอบกัน ทารกจะเริ่มรู้จักการฝัน

  • เมื่ออายุ 6 เดือน แน่นอนเขาบอกใครๆ ไม่ได้หรอกว่ากำลังฝัน ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ด้วยว่ามันคืออะไร แต่นักวิจัยได้ใช้การวัดคลื่นสมองเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ และพบว่าคลื่นสมองของทารกที่กำลังฝัน มีเส้นเหมือนคลื่นสมองของผู้ใหญ่ขณะฝันเปี๊ยบ
  • พออายุ 3-4 ขวบ ความฝันของเค้าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยนักวิจัยเชื่อว่า ภาพฝันของเด็กวัยนี้จะมีลักษณะเหมือนภาพสไลด์ คือยังไม่ได้เป็นเรื่องราวต่อเนื่อง แต่จะเป็นภาพต่างๆ ทีละภาพ
  • จนกระทั่ง 5-6 ขวบ ความต่อเนื่องของภาพฝันจึงเพิ่มขึ้น เรียกว่าเริ่มมีการเชื่อมโยงเรื่องราวของภาพแต่ละภาพเข้าด้วยกัน และพอ 8-9 ขวบ ความฝันจะเป็นเรื่องราวที่ชัดเจนขึ้น และเค้าจะเริ่มฝันเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง หรือฝันในแบบที่มีตัวเองเป็นตัวเอกแล้ว
ขวบครึ่ง…หลับสนิทได้จริงๆ ซะที

อย่างที่บอกค่ะว่า การหลับก็มีขั้นตอนของพัฒนาการ หลังจากหลับทั้งๆ ที่สมองตื่นในวัยทารก พออายุได้ขวบครึ่ง เด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ถึงการหลับสนิทแล้วล่ะค่ะ ความแตกต่างของคลื่นสมองขณะหลับและตื่นของพวกเค้าจะเพิ่มมากขึ้น โดยขณะหลับสมองจะลดความตื่นตัวลง และเค้าก็เริ่มที่จะแยกช่วงเวลากลางวัน กลางคืนออกได้แล้ว ลูกวัยนี้จึงหลับสนิทยามกลางคืนได้นานขึ้น

ไม่อยากนอนกลางวัน

การที่เค้าหลับกลางคืนได้นานขึ้น มีส่วนทำให้เด็กวัยเริ่มเดินได้คล่องนอนกลางวันน้อยลงค่ะ ในบางวันลูกอาจเล่นเพลิน จนไม่ยอมนอนกลางวัน หรือไม่ก็เล่นมากในช่วงค่ำ จนล่วงเลยเวลานอนแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะง่วงซักที บางครั้งลูกจะโยเยรบให้คุณพ่อคุณแม่ทำโน่นทำนี่ให้ก่อน กว่าจะหลับได้ คุณแม่ก็เหนื่อยแสนเหนื่อย

เด็กกลุ่มนี้มักจะหลับตอนกลางวันแค่ครั้งเดียว และหลับในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วย แถมเวลาตื่นขึ้นมายังง่วงงุนอาละวาด โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กที่นอนดึกแล้วตื่นเช้า เด็กพวกนี้มักง่วงอีกในตอนสายและฝืนเล่นไปจนเย็นแล้วก็หมดแรงหลับเอาตอนนั้น ซึ่งจะทำให้เกิดวงจรนอนดึกอีก เพราะเขาจะตื่นในตอนค่ำพร้อมๆ กับพลังงานที่ชาร์จไว้เต็มที่ กรณี นี้คุณแม่ควรถ่วงเวลาการนอนช่วงสายของลูกไว้ให้นานที่สุด คืออย่าให้ลูกนอนก่อน 11.00 น. ทางที่ดีควรให้เข้านอนหลังจากรับประทานอาหารกลางวัน และให้ลูกได้นอนสัก 2 ชั่วโมง เพื่อกันไม่ให้เขาง่วงหลับในช่วง 5-6 โมงเย็น ซึ่งจะทำให้ลูกกลายเป็นลูกนกฮูกไม่ยอมหลับยอมนอนยามกลางคืนได้ค่ะ

วินัยการนอน อีกเรื่องที่ต้องฝึก

สำหรับ พวกเด็กๆ แล้ว การนอนไม่ใช่แค่การพักผ่อน เพราะฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งออกมามากที่สุดก็ในช่วงที่พวกเขาหลับสนิท แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่พอถึงเวลาที่จะต้องนอนกลับไม่อยากนอน ทั้งยังร้องไห้โยเย หรือรบเร้าขอเล่นต่อ หากคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจ ปัญหานี้คงไม่จบง่ายๆ แน่ มาฝึกวินัยเรื่องการนอนให้ลูกกันดีกว่า เริ่มจากพอได้เวลานอนควรปิดไฟดวงใหญ่ แล้วเปิดไฟสลัวๆ พาลูกเข้านอนพร้อมกับร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ฟัง พอนิทานจบปุ๊บก็บอกลูกว่า ได้เวลานอนแล้วนะ จากนั้นควรงดการพูดคุย ความเงียบจะทำให้ลูกหลับได้ในไม่ช้า เด็กส่วนมากจะมีตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดที่ต้องกอดเวลานอน คุณแม่ควรพาลูกเข้านอนพร้อมเจ้าตุ๊กตาตัวโปรดด้วย การฝึกให้ลูกเข้านอนเมื่อถึงเวลาที่ต้องนอน ช่วงแรกๆ อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย หรือไม่ก็เจอปัญหาที่เด็กขัดขืนไม่ยอมนอนนิ่งๆ บนที่นอน แต่หากคุณทำได้อย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะค่อยๆ คุ้น และหากคุณทำได้สำเร็จก็เท่ากับว่าคุณได้สร้างให้เขามีวินัยรู้จักการกิน-นอนเป็นเวลา

อ่านต่อ

เทคนิคง่ายๆ ช่วยให้ลูกรักนอนหลับสบาย

เทคนิคง่ายๆ 10 ประการ สำหรับบ้านที่มีปัญหาลูกน้อยนอนไม่หลับ หรือหลับยาก
  • อาบน้ำ ทาแป้งหอม พาเบบี้อาบน้ำอุ่นๆ ใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อนุ่ม ไม่หนาหรือบางจนเกินไป จะช่วยให้สบายตัว ไม่เหนียวเหนอะหนะ เมื่อรู้สึกสบายตัว อารมณ์ดีก็ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • นวด นวดตัวลูกเบาๆ หรือนวดไปพร้อมๆ กับการทาโลชั่นบริเวณแขนและขา จะช่วยสร้างความผ่อนคลายให้หลับง่ายขึ้น
  • ดูดนมกันเถอะ เด็กแรกเกิด-6 เดือน โดยธรรมชาติจะมีวงจรการนอนหลับ (Sleep cycle) 10 รอบ/คืน โดยทุกๆ 1-2 ชั่วโมงจะตื่น บางคนตื่นมาไม่เจอใครก็จะร้องไห้งอแง การดูดนม จึงเหมือนเป็นการปลอบ ทำให้รู้สึกสบาย หลับต่อได้อย่างมีความสุข แต่ไม่ควรทำบ่อยเพราะมีผลทำให้เลิกดูดนมยากค่ะ
  • เอ่..เอ๊ ไกวเปล เมื่อเห็นว่าลูกมีทีท่าจะง่วงนอนแล้ว ให้พาไปนอนในเปล และแกว่งไปมาเบาๆ พร้อมกับร้องเพลงกล่อมตามไปด้วย ลูกจะเคลิบเคลิ้มหลับง่ายมาก
  • จับ ถือ ลูบ เพลินๆ หาสิ่งของที่ลูกติด เช่น ตุ๊กตา หมอนนุ่ม ผ้าห่ม เพื่อให้จับ ถือหรือลูบก่อนนอน จะทำให้มีอารมณ์เพลิดเพลิน นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • ตบก้น ลูบหลัง ขณะที่ลูกกำลังจะหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจตบก้นเบาๆ หรือ ลูบหลัง ซึ่งการสัมผัสเบาๆ จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจที่พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ไม่รู้สึกกลัว นอนหลับอย่างสบายใจ
  • เปิดเพลงบรรเลง เบาๆ ฟังสบายๆ ช่วยให้มีอารมณ์ดี นอนหลับได้ง่าย และยังเป็นการช่วยพัฒนาสมอง จัดระบบการเรียนรู้และความจำที่ดีอีกด้วย
  • อุณหภูมิของห้องลูกรัก ถ้าอากาศภายในห้องนอนมีความร้อนหรืออับชื้น จะทำให้ลูกอึดอัด ไม่สบายตัว อารมณ์หงุดหงิดง่าย จึงควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป และใช้ผ้าห่มนุ่มๆ ห่มทับบริเวณหน้าอก เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นขึ้น
  • จุ๊ๆ ควรเงียบสนิท ห้องนอน หรือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ควรมีความเงียบสงบ ไม่มีเสียงดังอึกทึกจนเกินไป เช่น ไม่ควรมีเสียงโทรทัศน์ หรือพ่อแม่คุยกันเสียงดัง เพราะอาจกระตุ้นให้ลูกตื่นเต้นจนนอนไม่หลับได้
  • แสงไฟสลัว ภายในห้องนอน เพราะลักษณะแสงไฟแบบนี้จะช่วยให้ลูกสบายตา และยังสามารถเห็นคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ทำให้นอนหลับอย่างอุ่นใจมากขึ้น แต่ถ้าเด็กคนไหนที่ทำยังไงก็ยังไม่หลับ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลจนเกินเหตุ เพราะธรรมชาติของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลองปรับสภาพแวดล้อมและการดูแล กำจัดสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้นอนไม่หลับก็จะช่วยได้ แต่ถ้าไม่สบายใจจริงๆ กลัวว่าจะมีสิ่งผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อความสบายใจนะคะ
ปัจจัยที่ทำให้ตัวเล็กนอนไม่หลับ

การนอนไม่พอจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกน้อย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังนี้

  • เกิดจากสิ่งแวดล้อมมีเสียงดัง หรือพลุกพล่าน กระตุ้นให้มีความตื่นเต้น จนไม่ยอมนอน
  • ปัจจุบันพ่อแม่ทำงานกลับบ้านดึก ส่งผลให้ลูกรอหรือพอกลับมาก็มาเล่นกับลูกอีก จนเลยเวลานอนไปแล้ว จึงทำให้ลูกนอนดึก และกลายเป็นเด็กหลับยากได้
  • เกิดจากความกลัว เพราะวัย 6 เดือนขึ้นไป เริ่มมีการจำและติดพ่อแม่ กลัวต้องแยกจากพ่อแม่ ทำให้นอนยาก และตื่นบ่อย
  • เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เป็นหวัด ท้องอืด ทำให้ไม่สบายตัว ดังนั้นต้องสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีน้ำมูก หรือท้องอืดหรือไม่ ยิ่งในเด็กแรกเกิด เวลาดูดนมอาจดูดไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดลมในท้อง ถ้าไม่มีการเรออย่างถูกวิธีลมจะตีขึ้น รู้สึกปวดท้อง ร้องไห้งอแงไม่ยอมนอนได้ ต้องรีบกำจัดตัวการเหล่านี้ออกไป แล้วเด็กจะหลับง่ายขึ้น อย่าลืมว่าการนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการ และความจำที่ดี
อ่านต่อ

ฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง

ให้เขาสนุกกับการงานของเขาเอง

เด็กจะเรียนรู้การทำงานสิ่งแรกคือ การช่วยตัวเอง เขาจะแต่งตัวเอง แปรงฟันเอง ปัดกวาดโต๊ะและห้อง ถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยชี้แนะเขาจะเติบโตเป็นเด็กที่ช่วยงานบ้านที่ดี พอโตขึ้นหน่อยเด็กจะเบื่อไม่อยากทำ สิ่งเหล่านี้แล้ว จึงต้องมีการเตือนกันบ้าง อย่างนิ่มนวลเหมือนพูดกับคนโตๆ ด้วยกัน อย่าล้อเลียนหรือเหน็บแนม ทำให้เขาหมดความภูมิใจในตัวเอง

การแต่งตัว

อายุ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เด็กจะพยายามถอดเสื้อเอง แต่ไม่สำเร็จ อายุ 2 ปี จะถอดเองได้บ้างแล้ว แต่พยายามใส่เองไม่ได้ ส่วนมากต้อง 3 ขวบ จึงจะนุ่งกางเกง และรอจนอายุ 4-5 ปี จึงจะทำสิ่งที่ละเอียดกว่า เช่น การกลัดกระดุม การผูกเชือกรองเท่า อายุ 1 ปีครึ่ง ถึง 4 ปี เขาจะต้องเรียนรู้มาก ควรช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ เช่น ช่วยหยิบเสื้อผ้า ช่วยใส่แขนเสื้อ ช่วยถอดถุงเท้าออกครึ่งหนึ่ง และลูกก็ทำต่อ ถ้าลูกทำไม่ได้ ก็เข้ามาช่วย อย่าบังคับเขา หรือให้เขาทำทั้งหมด เขาต้องการฝึกฝนตัวเอง

ช่วยกันเก็บของ

เมื่อลูกยังเล็กๆ คุณจะต้องตามเก็บของเล่นที่ลูกเล่นทิ้งๆ ไว้ มิฉะนั้นคุณจะสะดุดหกล้มและบ้านช่องรกน่าดูไม่มีระเบียบเลย พอลูกโตสักหน่อย จะต้องสอนการเก็บให้เป็นระเบียบ "ลูกเล่นรถเสร็จแล้วต้องเก็บในโรงรถ อย่างนี้นะ เก็บทีละคัน" แล้วคุณก็ต้องให้ลูกดู พออายุ 4-5 ปี เขาจะรู้จักเล่นและเก็บของเล่นเข้าที่ ต่อๆไปเขาก็ทำได้เอง โดยไม่ต้องตักเตือนก็จำได้

ถ้าคุณหนูยืดยาด

คุณแม่บางคนแสนที่จะเบื่อกับเด็กๆ เหล่านี้ เข้าขึ้นมาก็ต้องไปฉุดไปลากกันออกมาจากเตียง กว่าจะล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัวชุดไปโรงเรียน และรับประทานอาหารเช้าก็แสนยากแสนเข็ญ คุณพ่อคุณแม่สุดแสนจะเบื่อทุกๆ วัน ลูกต้องเป็นอย่างนี้ กลับจากโรงเรียนกว่าจะทำการบ้านเสร็จ ก็ปากเปียก ปากแฉะ กลางคืนกว่าจะยอมเข้านอนก็ยืดยาด เป็นอย่างนี้ทุกๆวัน จะทำอย่างไร

คุณต้องหัดลูกตั้งแต่เล็กๆ เลย ว่าลูกมีหน้าที่อะไร พอเขาโตพอจะทำอะไรได้เองก็ค่อยๆ ถอดออกมา พอลูกชักจะลืมๆ ก็เตือนเขาอีก ถ้าเขาตื่นสาย เป็นประจำ คุณต้องฉุดออกมาจากเตียง ลองให้เขาไปโรงเรียนไม่ทัน สักครั้งสองครั้ง เขาก็จะเข็ดเลย เพราะอายเพื่อน อายคุณครู และอาจจะได้ถูกคุณครูลงโทษเอาด้วย ต่อไปเขาจะเข็ดไม่กล้าตื่นสายอีกแล้ว

บางครั้งเด็กๆขอบเล่นของสกปรก

เด็กเล็กๆ ชอบเล่นของเลอะเทอะ บางครั้ง เช่น ขุดดิน ขุดทราย กลิ้งบนพื้นสนาม พื้นทราย วิดน้ำ ตักน้ำเล่นเลอะเทอะเต็มห้อง เด็กอยากเรียนรู้ของต่างๆ ที่เขาพบเห็นว่าน้ำเป็นอย่างไร ถ้าคุณค่อยห้ามเขาตลอดเวลาเด็กจะกลัวมากเกินไป แต่ถ้าคุณคอยดูแลอย่าให้เลอะเทอะมาก หรือเป็นอันตราย และไม่เล่นนานจนเกินไป ชวนไปเล่นของอื่นบ้าง การเล่นเหล่านี้เป็นแนวทางความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน หากมีผู้แนะแนวทางที่ถูกต้อง เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อสังคม

อ่านต่อ

ความรู้สึกกับคนแปลกหน้าของลูก

เด็กมีความรู้สึกต่อคนแปลกหน้าอย่างไร

เด็กๆ จะมีปฏิกิริยาต่อคนแปลกหน้าเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ

  • เด็กทารก 2 เดือน เวลาคุณแม่พาไปหาหมอ แกจะนอนบนโต๊ะตรวจนิ่งๆ หรือมองดูหมอผ่านทางไหล่คุณแม่เฉยๆ
  • เด็กอายุ 3 เดือน น่ารักที่สุด เพราะจะยิ้มกับหมอ เวลาหมอพูดด้วย คุยด้วย
  • มาก จะตกใจกับของที่แปลกไป เช่น ของใช้ของคนที่มาเยี่ยมเยียน หมวก กระเป๋า ร่ม บางครั้งเห็นหน้าคุณพ่อยังแปลกใจเลย ถ้าคุณหนูอ่อนไหวมากในระยะนี้ พยายามให้ห่างไกลจากคนแปลกหน้า หรืออะไรใหม่ๆ ที่แกไม่รู้จักจนกว่าแกจะคุ้นเคย

เด็กบางคนยอมรับแขกและคนแปลกหน้าไปจนถึง อายุ 1 ปี ต่อไปก็เปลี่ยน ส่วนมากอายุ 13 เดือน เป็นวัยที่เด็กขี้สงสับมากที่สุด เด็กบางคนจะร้องลั่นเวลาหมอตรวจ บางคนพยายามปีนป่ายหนีหมอ ปีนบนตัวคุณแม่ ร้องอย่างโกรธแค้นมาก ซบหน้ากับคอคุณแม่แน่น ไม่ยอมหันหามาทางหมอเลย สักพักจะแบบดูหมอว่าทำอะไรอยู่ มองด้วยสายตาราวกับเห็นหมอเป็นอาวุธร้ายแรกอะไร ถ้าตรวจเสร็จก็หยุดร้องทันที สักประเดี่ยวก็ยิ้มได้เหมือนเดิม

อ่านต่อ
สมัครรับ RSS feed
รับรองคุณภาพมาตรฐานโดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถูกต้องตามเกณฑ์พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 หรรษาเนอร์สเซอรี่