ทำยังไง ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน

เด็กรุ่นใหม่มีปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากพ่อแม่เลี้ยงลูกให้สบาย คอยช่วยเหลือเกือบทุกอย่าง ในขณะเดียวกันก็เร่งส่งเด็กไปโรงเรียนเร็วๆ โดยไม่ดูที่ความสามารถของเด็กเป็นพื้นฐาน พยายามเร่งให้เด็กอ่านหนังสือเร็วๆ ให้เขียนหนังสือเยอะๆ ตั้งแต่ 4–5 ขวบ ให้คำนวณเลขได้ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เด็กร้องไห้ อยากจะอยู่บ้านไม่อยากไปโรงเรียนได้อย่างไร

สาเหตุที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน
  • วิตกกังวล กลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ กลัวว่าพ่อแม่จะไม่รัก
  • เรียนหนังสือไม่ทัน เรียนไม่รู้เรื่อง คุณครูลงโทษรุนแรง
  • เล่นกับเพื่อนไม่สนุก เข้ากับเพื่อนและครูไม่ได้ ปรับตัวช้า
  • การเลี้ยงดูที่ตามใจเด็ก หรือทำให้เด็กมากเกินไป จนเด็กติดกับการทำอะไรตามใจตัวเอง
  • ขาดทักษะพื้นฐานในด้านการเล่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
วิธีการแก้ปัญหา
  • ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู ให้ช่วยเหลือตนเอง และงานบ้านส่วนรวม โดยที่พ่อแม่อยู่ใกล้ชิด คอยให้กำลังใจ แต่ไม่ทำให้เด็กไปเสียทั้งหมด
  • ฝึกทักษะพื้นฐานในด้านการเล่นและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
  • ให้ไปโรงเรียนทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องให้หยุด โดยขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้รับต่อเด็ก ณ จุดที่รับเด็ก เพื่อทำให้ระยะเวลาการแยกจาก ขณะที่ไปส่งที่โรงเรียนสั้นที่สุด
  • ช่วยเหลือเด็กให้เล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนเพิ่มขึ้น
  • มารับตรงเวลา ช่วงเช้าไม่ควรอบรมสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน เมื่อเด็กทำท่าอืดอาด ชักช้า ถ้าไม่ยอมอาบน้ำก็ไม่เป็นไร แต่ต้องไปโรงเรียน หรือถ้าไม่ยอมกินข้าว ก็เอาข้าวใส่กล่องไป ขณะเดินทาง ชี้ชวนพูดเรื่องสนุกๆ ที่วางแผนว่าจะทำในช่วงเย็น ไม่ให้ความสนใจกับคำพูดซ้ำๆ ของเด็ก อย่าโกรธ และอย่ารำคาญ ถ้าไม่ได้ผลให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็ก
อ่านต่อ

หลักการการเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก

ทำเล-สถานที่ตั้ง-สภาพแวดล้อม

ควรอยู่ใกล้บ้านหรือใกล้พ่อแม่ผู้ปกครอง มีระยะทางไม่ไกลเกินกว่าที่เด็กจะเดินทางไหว และควรตั้งอยู่ใกล้พอที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะไปถึงโรงเรียนได้เร็วที่สุด หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับเด็ก มีความสะอาดและความปลอดภัย อย่างห้องน้ำ ห้องอาหาร ห้องเรียน ห้องนอน ควรแบ่งสัดส่วนและใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับเด็กๆเด็กไม่ควรอยู่ในห้องติดแอร์ตลอดเวลา ควรอยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะเด็กๆ จะติดโรคกันได้ง่าย และในห้องต่างๆ อากาศก็ไม่ควรจะร้อนเกินไปด้วยสภาพแวดล้อมและบรรยากาศโดยรวมภายในโรงเรียน จะต้องเป็นแบบที่เด็กชอบ

คุณภาพของโรงเรียน

ค่าเล่าเรียนอยู่ในระดับที่ฐานะทางการเงินของครอบครัวสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อนในภายหลังชื่อเสียงและความโด่งดังของโรงเรียน ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าจะเหมาะสมกับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไปสังเกตพฤติกรรมของเด็กและผู้ปกครองคนอื่นๆ ก่อนจะเลือกโรงเรียนนั้นให้กับลูกหลานของตัวเองจำนวนนักเรียนต่อจำนวนครู ไม่ควรมากหรือน้อยเกินไปประวัติการทำงานและระยะเวลาการทำงานของครู พี่เลี้ยงหรือบุคลากรในโรงเรียนนั้นๆ ควรมีระยะเวลานาน ไม่ควรเปลี่ยนครูหรือบุคลากรบ่อยๆ อาจสอบถามจากโรงเรียน จากผู้ปกครองคนอื่นๆ หรือคนในบริเวณใกล้เคียง ที่สำคัญโรงเรียนจะต้องติดต่อได้ง่าย และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เสมอ

เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

เมนูอาหารที่โรงเรียนจัดสำหรับเด็กก็สำคัญมากการดูแลเรื่องสุขอนามัยของเด็กๆ เช่น การป้องกันยุงของโรงเรียน โดยสังเกตดูจากเด็กนักเรียนว่าแขนขามียุงกันบ้างไหมสถานที่จอดรถ เพื่อรับ–ส่ง บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะต้องจอดนานๆ ในช่วงแรกๆ ก็ควรมีที่จอดรถรองรับได้เพียงพอด้วยการเลือกโรงเรียนอนุบาลให้เหมาะสมกับเด็ก จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม รู้จักปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ แนวการเรียนการสอนแบบทางเลือกในโรงเรียนก็มีหลากหลายแบบ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องนำมาพิจารณาในการเลือกโรงเรียนให้กับเด็กๆ

อ่านต่อ

ช่วยด้วย...ลูกดิฉันชอบหนีเรียน

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจถึงเรื่องที่ลูกหนีเรียนนั้นว่าเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • แต่งตัวเดินออกจากบ้านแล้ว แต่ไปไม่ถึงโรงเรียน แวะตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ลานสเก็ต เมื่อถึงตอนเย็นเด็กจะกลับมาถึงบ้านตามเวลาปกติ
  • เด็กไปเรียนในช่วงเช้า ตอนบ่ายจะหนีออกจากโรงเรียน เด็กอาจหนีออกทางด้นาหลัง หรือปีนรั้วข้ามกำแพงออกมา ซึ่งการหนีเรียนนั้นเด็กจะไม่ไปโรงเรียนและไม่อยู่บ้านด้วย สำหรับสาเหตุของการหนีเรียนนั้นพบว่า เด็กมีความหมดหวังในสิ่งที่ได้รับจากทางบ้าน โรงเรียนหรือในหมู่เพื่อนด้วยกัน ถ้าเด็กหนีเรียนในกรณีที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือหนีเรียนเพราะเพื่อนชวน นับว่าเป็นปัญหาที่ไม่ร้ายแรง แต่ถ้าหนีแล้วหลบไปอยู่คนเดียว หรือไปก่อความวุ่นวาย อันนี้ต้องระวังและหาทางแก้ไขอย่างรีบด่วน
แนวทางการแก้ไข
  • คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามหรือใช้การสังเกตเพื่อหาสาเหตุให้พบ และรีบให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการที่เหมาะสม ในบางครั้งอาจต้องใช้การลงโทษได้บ้างแต่ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด
  • พ่อแม่ควรต้องติดต่อประสานงานกับครูถ้าสาเหตุอยู่ที่โรงเรียน หรือครู ควรให้โรงเรียน หรือครูเป็นผู้แก้ปัญหา ถ้าสาเหตุมาจากบ้านพ่อแม่ควรจะปรึกษาหารือร่วมกัน อย่ารีบร้อนลงโทษลูกอย่างรุนแรง ในกรณีที่พ่อแม่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกได้อย่างไร ให้ลองปรึกษาครู หรือผู้ให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตจากสถานบริการใกล้บ้านดู เพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กต่อไป
อ่านต่อ

เมื่อเด็กก้าวร้าว

ในทางชีววิทยา ความก้าวร้าวอาจถือได้ว่าเป็นสัญชาตญาณชนิดหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ซึ่งช่วยในการอยู่รอดทำนองเดียวกับความง่วง ความหิว มีทั้งความก้าวร้าวที่เป็นการตอบสนองจากสิ่งกระตุ้นภายนอกที่ถูกแปลว่า อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง ต่อคนหรือสิ่งที่ตนรักผูกพัน หรือรู้สึกเป็นเจ้าของ อย่างในสุนัขหรือสัตว์ผู้ล่าต่างๆ อาจเป็นอาณาเขตทำมาหากิน หรือมาจากภาวะอารมณ์ ความคิด หรือการทำงานที่ไม่ปกติ หรือบกพร่องของสมองภายในของสิ่งมีชีวิตนั้นเองก็ได้ แต่การที่เราเชื่อว่า ความเป็นมนุษย์จะสูงส่งเหนือสัตว์ทั้งหลายเนื่องจากการรู้จักคิดอ่าน ทำให้มนุษย์มองความก้าวร้าวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเหลือเชื่ออยู่เลย เชื่อว่าความคิดระดับมนุษย์สามารถยับยั้งหรือได้ทำลายความก้าวร้าวหมดไปจากสายพันธุ์แล้ว คล้ายกับเชื่อว่ารถดีจะไม่ปล่อยไอเสีย หากเรานำ 2 แนวคิดนี้มาผสมผสานกัน และนำมาพิจารณาพฤติกรรม หรืออารมณ์ของเด็ก ของคนรอบข้าง หรือแม้แต่กับของตนเอง อาจทำให้เราได้เข้าใจพิเคราะห์ ความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หลากหลายขึ้น

เด็กไม่ใช่ผ้าขาว แบบเกิดมาไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เพราะอย่างน้อยการเป็นผ้าขาวก็เกิดจากการถักทอใยผ้า มากมาย แน่นอนเขามีสัญชาตญาณต่างๆ ที่สืบทอดมาหลายหมื่นหลายแสนปีติดมา และร่วมกับกรรมพันธุ์ของพ่อ-แม่ วงศาคณาญาติก็รวมอยู่ในเส้นใยที่ว่าขาวเหล่านั้นด้วย คงสังเกตได้ว่าพ่อ หรือแม่ที่ก้าวร้าวมีโอกาสที่ลูกไม้จะหล่นกลิ้งอยู่แค่ใต้ต้นมากกว่าพ่อแม่ที่สงบๆ นิ่งๆ สิ่งเหล่านี้อาจเห็นได้ตั้งแต่เป็นเด็ก โดยที่อาจยังไม่ได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่เลยก็ได้

ความก้าวร้าวเริ่มต้นของเด็กแรกเกิด อาจเป็นการแสดงการโกรธ หงุดหงิด ร้องไห้ เมื่อหิว เมื่อหนาวร้อน เมื่อเปียกเปื้อน เมื่อโตขึ้นอีกนิดความก้าวร้าวอาจเห็นได้ ไม่ใช่แค่เพื่อเอาชีวิตรอด แต่เกิดเมื่อไม่พอใจ ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งชนิดของเรื่องราวที่มากระตุ้น และดีกรีของความก้าวร้าวจะต่างกันไปตามอายุของเด็ก เช่น เด็กเล็ก การห้ามเอาของใส่ปาก ห้ามเดินไปใกล้บันได ก็น่าขัดใจแล้ว ในขณะที่เด็กโตหรือวัยรุ่น อาจเป็นเรื่องอยากได้มือถือ อยากเล่นเกม อยากไปไหนกับเพื่อน ซึ่งจะดูซับซ้อนมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ขัดใจ ขัดอิสรภาพ แต่มีเรื่องของหน้าตาในสังคมมาแจมด้วย

เด็กบางคนที่ก้าวร้าวได้ง่าย รุนแรงหรือบ่อยกว่าคนอื่น อาจมีเหตุมาจากภายนอกคือ การได้เห็น หรือเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่างๆ มา ซึ่งอาจจะมาจากทั้งในบ้าน ในโรงเรียน (อาจเป็นระดับเพื่อนแกล้งกัน ไม่ว่าถูกลงมือลงไม้ ถูกไถเงิน ข่มขู่ให้ทำเรื่องต่างๆ หรือกีดกันรังเกียจไม่ให้คบเข้ากลุ่ม หรือระดับนานาชาติ แบบยกโรงเรียนตีกันเป็นประเพณี) หรือจากสื่อต่างๆ ที่มักอ้างว่าเรื่องจริงต้องสื่อให้อ่าน หรือเห็นสะใจ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แบบคนมายิงจ่อหัวกัน รุมตีกระทืบกัน หรือรูปอาชญากรรม แย่งแฟน เลือดสาดหัวขาด ซึ่งไม่ควรเสนอฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือลงภาพตีพิมพ์ เด็กอีกพวกอาจก้าวร้าวง่ายจากเหตุภายในเอง เช่น มีโรคไม่สบายเรื้อรัง ต้องกินยาหลายตัว ที่ทำให้พฤติกรรมรุนแรงขึ้นโดยตรง หรือถูกห้ามทำกิจกรรมต่างๆ จนไม่เหมือนเพื่อน เพราะกลัวป่วยมากขึ้น อย่างหอบหืด ไซนัส ลมชัก โรคทางสมอง หรือโรคของต่อมไทรอยด์ ก็อาจเป็นเหตุของความก้าวร้าวได้ อย่างโรคพัฒนาการล่าช้าชนิดต่างๆ โรคชัก สมองอักเสบ เป็นต้น

เหตุภายในจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซนสมาธิสั้น โรคอารมณ์แปรปรวน ก็พบได้ว่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อย ของเด็กที่ก้าวร้าวได้บ่อยๆ ทั้งจากตัวเอง หรือไปแหย่เพื่อนเรื่อยๆ เพื่อนเอาคืนก็เอาคืนหนักกว่า บ่อยครั้งที่ความก้าวร้าว เกิดจากความกังวล หรือไม่สบายใจ ตัดสินใจไม่ได้ของเด็กเอง เช่น กังวลกับอนาคต การสอบ ท่าทีของเพื่อน ความคาดหวังต่อตัวเอง หรือจากพ่อแม่ครูหรือเพื่อน การบอกเด็กว่า "โกรธเพื่อนแล้วอย่ามาพาลแม่นะ" คงไม่ช่วยให้เขาหายพาล ที่แย่ที่สุดก็คือความก้าวร้าวอันเกิดจากการไปใช้สารต่างๆ ที่ไม่เคยมีใครรับว่าตัวเองติด อย่างเหล้า ยากระตุ้นหลอนประสาทต่างๆ อันดาษดื่น

ที่เขียนมาตั้งเยอะก็เพื่อจะบอกว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องอาศัยความช่างสังเกต ถามไถ่ อยากบอกอีกว่า ความรุนแรงไม่อาจแก้ด้วยความรุนแรง แบบทำสงครามเพื่อหยุดสงคราม เพราะจะได้ผลแค่ช่วงสั้นๆ นึกดีๆ ก่อนว่า เด็กๆ ที่ก้าวร้าว อาจมีเหตุมาจากอะไรที่เล่าให้ฟังมาแล้วได้บ้าง หลายครั้งที่ความก้าวร้าวนี้เกิดจากหลายเหตุรวมๆ กัน เด็กเล็กที่ก้าวร้าวโดยพื้นฐาน เหมือนเกิดมาเป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว ต้องอาศัยตลิ่งร่องน้ำ การเลี้ยงดูควบคุมที่หนักแน่น แน่นอน และสม่ำเสมอ ไม่ใช่เปลี่ยนตามอารมณ์ หาทางให้เขาใช้ความแรงของเขาไปในทางที่สังคมยอมรับ อาจเปลี่ยนพื้นของเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็รู้จักควบคุมและใช้มัน คนที่ไปแล่นเรือในสายน้ำเชี่ยวนี้ ก็ต้องรู้วิธีและธรรมชาติจังหวะขึ้นลงของน้ำ

อ่านต่อ

ลูกคุณเป็นเด็กเลี้ยงยากหรือเปล่า

พื้นอารมณ์ (Temperament)

หมายถึงแนวโน้มของเด็กในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นผลมาจากพันธุ์กรรมและสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์ ส่งผลทำให้ทารกแรกเกิดแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ทั้งที่ถูกเลี้ยงดูโดยผู้เลี้ยงคนเดียวกัน ในบ้านเดียวกันก็ตาม มีอยู่ 3 แบบ ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด ได้แก่

  • เด็กเลี้ยงง่าย (easy child) พบร้อยละ 60 จะมีลักษณะอารมณ์ดี กินง่าย นอนง่าย ปรับตัวง่าย เข้าหาผู้อื่นได้ง่าย ไม่มีปฏิกิริยารุนแรง มีสมาธิดีและมีความอดทนสูง
  • เด็กเลี้ยงยาก (difficult child) พบร้อยละ 10 จะมีลักษณะอารมณ์หงุดหงิดง่ายและแปรปรวนเร็ว ปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้ยาก กินยาก นอนยาก เข้าหาผู้อื่นยาก มีปฏิกิริยารุนแรงและอดทนต่อความคับข้องใจได้น้อย ลักษณะแบบนี้ทำให้ยากต่อการฝึกระเบียบวินัย และทำให้พ่อแม่ที่ใจเย็นที่สุดเกิดอารมณ์เสียได้ง่าย ดังนั้น พ่อแม่ที่มีลูกแบบเด็กเลี้ยงยากนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่ดีและมีประสิทธิภาพพอจึงจะจัดการกับลูกได้
  • กลุ่มที่ปรับตัวช้า (slow to warm up) พบได้ร้อยละ 30 กลุ่มนี้จะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆอยู่ในระดับปานกลาง หลายคนเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กขี้อาย ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจลักษณะของเด็ก ให้เวลาอีกนิดในการปรับตัว ให้โอกาสเพิ่มขึ้นในการฝึกทักษะ สุดท้ายเด็กก็จะพัฒนาต่อไปได้ดี

พื้นอารมณ์เป็นลักษณะที่ถูกกำหนดโดยชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่า พื้นอารมณ์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและมักมีลักษณะคล้ายพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง เราสามารถสังเกตพื้นอารมณ์ของเด็กได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ยิ่งเด็กโตขึ้นก็จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้พื้นอารมณ์จะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดก็ตาม แต่ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม เช่น ในเด็กที่มีพื้นอารมณ์หงุดหงิดง่าย หากพ่อแม่พยายามใจเย็นไม่ยั่วให้เด็กโมโห พูดคุยกับเด็กอย่างมีเหตุผล และใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่เหมาะสมมากกว่าใช้วิธีลงโทษเมื่อทำผิด เด็กก็จะมีอารมณ์หงุดหงิดน้อยลงและควบคุมตนเองได้ดีขึ้นในที่สุด

อ่านต่อ

ลูกเป็นเด็กขี้อาย

อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจเด็กคนอื่นๆ ในอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง เชื่อว่าคุณจะได้พบว่า เด็กคนอื่นๆ ก็ออกอาการขี้อายเช่นกันไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพราะเด็กในช่วงอายุ 2-3 ปีนี้ จะไม่ค่อยกล้าแสดงออกอยู่แล้ว และมักจะเป็นในบางครั้ง เด็กบางคนจะไม่มีอาการขี้อาย เมื่ออยู่กับผู้ใหญ่คนใกล้ชิด แต่เมื่อต้องทำอะไรต่อหน้าเพื่อนๆ กลุ่มใหญ่ หรือพูดกับผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นเคย ก็จะมีอาการเขินอาย และไม่กล้าแสดงออกได้ จนถึงอายุประมาณ 6 ขวบ ก็จะเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น ประมาณครึ่งหนึ่งจะไม่มีอาการขี้อายอีก แต่ก็ยังมีอีกประมาณ 20 % ที่จะมีลักษณะนิสัยเป็นคนขี้อายต่อไปจนถึงวัยรุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถปรับตัวเข้าได้กับคนอื่นๆ และสังคม แม้ว่าจะยังไม่หายขี้อาย เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม ใน ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า ลูกสาวอายุ 3 ขวบของคุณนั้น จะเป็นแค่ขี้อายตามวัยของเขา หรือจะเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยขี้อายต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นแทนที่คุณพ่อคุณแม่ จะต้องมาเป็นกังวลในตอนนี้ ก็ควรลองหาวิธีที่จะทำให้ลูกกล้าแสดงออก มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น และไม่รู้สึกว่าการที่ต้องพบปะคนอื่นๆ หรือต้องทำอะไรต่อหน้าคนอื่นในเวลาไปงานต่างๆ เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความเขินอาย แต่กลับเป็นการดีเสียอีกที่จะได้มีเพื่อนใหม่ และพบผู้คนอื่นๆ ซึ่งคุณอาจจะใช้วิธีดังต่อไปนี้ช่วยลูกได้

  • ยอมรับว่า การที่มีอาการขี้อายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา อาจเป็นเรื่องยากที่คุณพ่อคุณแม่จะยอมรับ โดยเฉพาะคนที่อยากให้ลูกกล้าแสดงออกมากๆ เราคงต้องเข้าใจเด็กว่า เขาเป็นเด็กอายุเพียง 3 ขวบ จะให้กล้าพูดกล้าทำ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่นั้น อาจจะยังไม่ได้ และการที่คุณมีท่าทาง หรือคำพูดที่ไม่พอใจ หรือบ่นว่าลูก ว่าทำไมถึงขี้อายมาก ก็จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความวิตก และเครียดมากขึ้น ก็จะยิ่งถอยห่างจากคนอื่นๆ ไปอีก ทางที่ดีคุณควรจะให้กำลังใจแก่ลูก และพยายามให้เขารู้สึกว่า คุณเข้าใจเขา และคอยให้กำลังใจแก่เขาเสมอ
  • อย่าพูดต่อหน้าลูกบ่อยๆ ว่า ลูกเป็นคนขี้อาย คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะบอกว่า ตัวเองไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่ แต่หลายท่านอาจทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การพูดกับคนอื่นๆ ต่อหน้าลูกว่า "เขาเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก" หรือคอยบังคับให้ลูก ต้องทำโน่นทำนี่อย่างกล้าหาญ (ทั้งๆ ที่เขาไม่อยากทำ หรือยังไม่พร้อม) ต่อหน้าคนอื่นๆ และเมื่อลูกไม่ยอมทำตาม หรือทำไม่ได้ ก็จะกล่าวว่า "ลูกทำให้ (คุณพ่อ-คุณแม่) หน้าแตก" หรือ "แม่ผิดหวัง หรือเสียใจที่ลูกไม่กล้าแสดงออก" หรือ "ลูกทำไมขี้อายจัง สู้น้องคนนั้นก็ไม่ได้" เด็กวัยขนาดนี้ ย่อมรับรู้ได้ และสามารถเข้าใจทั้งคำพูด และภาษาท่าทางที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออก ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความกลัว ไม่กล้าแสดงออก ที่เขามีอยู่มากขึ้น จนเด็กบางคนยอมรับสภาพนั้นไป และเลือกใช้เป็นข้ออ้าง (ในใจกับตนเอง) ว่าเขาไม่สามารถทำ หรือไม่อยากทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเขาเป็นคนขี้อาย ซึ่งจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และการนับถือตนเองของเด็ก (self-esteem) และยิ่งทำให้ปัญหาขี้อายนี้ยิ่งแย่ลงไปอีก
  • พยายามเข้าใจลูก เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของเขา และคอยให้กำลังใจ ไม่ว่าความขี้อายของลูก จะทำให้เกิดอะไรขึ้น และจะเป็นเหตุการณ์ที่อาจทำให้คุณอึดอัดแค่ไหนก็ตาม ในขณะที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น คุณควรจะรีบหา "ช่องทางออก" เผื่อให้แก่ลูกด้วย เพื่อช่วยให้ลูกไม่รู้สึกว่าอับอายหรือ ล้มเหลว (fail) แต่ก็เช่นกัน คุณควรจะให้โอกาสเธอได้ลองพยายามเอาชนะความขี้อายนี้ด้วยตนเองบ้าง ไม่ควรจะรีบกันเธอออกในทันที การที่จะทำเช่นนี้ได้นั้น จะต้องการคุณพ่อคุณแม่ ที่เข้าใจลูกอย่างจริงๆ และมองออกถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น คุณควรจะหาโอกาสจัดกิจกรรมที่บ้าน หรือที่อื่นๆ ให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่นๆ ที่เขาคุ้นเคย และได้ฝึกทักษะการเล่น และมีปฏิสัมพันธ์กัน (social skills) และคุณสามารถช่วยฝึกสอนลูกให้รู้ว่า จะมีวิธีอย่างไรในการควบคุมตนเอง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น การสูดหายใจลึกๆ, การนึกถึงแต่สิ่งที่ดี, ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาว่า ฯลฯ
  • การซักซ้อม, การเตรียมตัวให้แก่ลูก อีกวิธีหนึ่งที่คุณอาจจะช่วยลูกได้ คือ การเล่นสมมุติแบบตัวละคร (role-playing) โดยการกำหนดบทบาทของตัวละคร และให้คุณ หรือลูกลองเล่นในบทบาท (character) แตกต่างกันไป เช่น เป็น เด็กกล้า เด็กขี้อาย เด็กขี้โมโห หรืออาจใช้ตุ๊กตาหลายตัวมาเล่นกัน แล้วลองถามลูกดูว่า ถ้าตุ๊กตา (ตัวละคร) นี้เป็นเด็กขี้อาย เมื่อพบภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ เขาควรจะทำอย่างไร เขาจะรู้สึกอย่างไร และเขาอยากให้คนอื่นๆ ช่วยเขาอย่างไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ จะรู้ได้ถึงความฉลาดและ sense ของลูก และจะสามารถสอดแทรก แนวทางการแก้ปัญหา และความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ให้แก่ลูกได้ พยายามให้การเล่นนี้ไม่ยาว และซับซ้อนเกินไปนัก และควรให้จบโดยดี ที่พบว่า ทุกคนมีความสุข (happy ending) เช่น ตุ๊กตาขี้อาย (ตัวละคร) นั้นในที่สุด ก็สามารถได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ และเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน ฯลฯ

คุณควรจะมีเวลาเตรียมตัวลูก ก่อนที่จะพาลูกออกงานใหญ่ เล่าถึงลักษณะงาน และเรื่องต่างๆ ที่เด็กจะต้องทำ เพื่อให้เด็กไม่เกิดความตื่นเต้น (ตื่นกลัว) เมื่อต้องออกงานจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ควรจะพาลูกไปยังสถานที่นั้น และพาเดินดูไปทั่วๆ ก่อนถึงเวลาที่ลูกจะต้องพบปะผู้คนอื่นๆ เพื่อให้ลูกได้รู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ และลักษณะงานที่กำลังดำเนินไป ยิ่งถ้าคุณจะต้องปล่อยลูกไว้กับผู้อื่น เนื่องจากคุณเองก็ต้องทำการพบปะผู้อื่น ก็ควรจะให้ลูกได้มั่นใจว่า ลูกจะได้อยู่กับคนที่เขาคุ้นเคย และทำให้เขามีความรู้สึกมั่นใจ และปลอดภัยด้วย (sense of security) เด็กเล็กบางคนยังอาจจะติดตุ๊กตาตัวโปรด หรือผ้าห่มประจำตัว (security doll or blanket) ก็ควรอนุญาตให้เขานำติดตัวไปงานด้วย แต่คุณอาจต้องเตรียมตัวลูกว่า บางครั้งเพื่อนๆ อาจจะมาขอดู หรือเล่นกับตุ๊กตาของลูกบ้าง ซึ่งลูกควรจะยอมให้เพื่อนได้เล่นด้วยบ้าง

ในบางครั้ง ที่มีเด็กคนอื่นๆ เล่นกันอยู่แล้ว และคุณต้องการให้ลูกเข้าร่วมเล่นกับเด็กกลุ่มนั้น คุณควรที่จะเป็นผู้นำลูกเข้าสู่กลุ่ม อาจโดยการกล่าวนำ ขออนุญาตกับเด็กคนอื่นๆ ในกลุ่มที่กำลังเล่นอยู่ว่า ขอให้ ("คุณ")และ "ลูกแก้ว" เข้ามาเล่นด้วยได้ไหมคะ และคุณยืนดูให้ลูกเข้าไปเริ่มเล่นกับเด็กคนอื่นๆ สักพัก จนเห็นว่าเด็กๆ ปรับตัวเข้าหากันได้แล้ว คุณจึงค่อยถอยห่างออกไปทำธุระอื่นของคุณต่อ แต่อย่าหลบหนีไปเฉยๆ คุณควรจะบอกลูก หรือส่งสัญญาณให้ลูกทราบว่า คุณกำลังจะไป และจะกลับมารับเขาในไม่นาน และให้มีผู้อื่นที่ลูกคุ้นเคย คอยดูแลลูกให้ด้วย เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กได้ ในเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าลูกยังคงมีความขี้อาย และกลัวอย่างมากที่จะพบปะผู้คนอื่นๆ แม้เมื่ออายุมากขึ้น (เกิน 3 ขวบขึ้นไป) และคุณได้ลองให้เวลาแก่ลูก ช่วยเขาในการปรับตัว ดังที่แนะนำมาแล้ว และความขี้อายนี้มีผลกระทบในเชิงลบ ต่อการเข้าสังคม หรือการเรียน การเล่นกับเพื่อนๆ ก็ควรพิจารณานำเรื่องลูกเป็นเด็กขี้อายนี้ ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้หาทางช่วยเหลือเด็กต่อไป ซึ่งการทำ counseling จะสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ และเด็กปรับตัวได้ดีขึ้น

อ่านต่อ
สมัครรับ RSS feed
รับรองคุณภาพมาตรฐานโดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถูกต้องตามเกณฑ์พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 หรรษาเนอร์สเซอรี่