ลูกเป็นเด็กขี้อาย

อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจเด็กคนอื่นๆ ในอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง เชื่อว่าคุณจะได้พบว่า เด็กคนอื่นๆ ก็ออกอาการขี้อายเช่นกันไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพราะเด็กในช่วงอายุ 2-3 ปีนี้ จะไม่ค่อยกล้าแสดงออกอยู่แล้ว และมักจะเป็นในบางครั้ง เด็กบางคนจะไม่มีอาการขี้อาย เมื่ออยู่กับผู้ใหญ่คนใกล้ชิด แต่เมื่อต้องทำอะไรต่อหน้าเพื่อนๆ กลุ่มใหญ่ หรือพูดกับผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นเคย ก็จะมีอาการเขินอาย และไม่กล้าแสดงออกได้ จนถึงอายุประมาณ 6 ขวบ ก็จะเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น ประมาณครึ่งหนึ่งจะไม่มีอาการขี้อายอีก แต่ก็ยังมีอีกประมาณ 20 % ที่จะมีลักษณะนิสัยเป็นคนขี้อายต่อไปจนถึงวัยรุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถปรับตัวเข้าได้กับคนอื่นๆ และสังคม แม้ว่าจะยังไม่หายขี้อาย เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม ใน ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า ลูกสาวอายุ 3 ขวบของคุณนั้น จะเป็นแค่ขี้อายตามวัยของเขา หรือจะเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยขี้อายต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นแทนที่คุณพ่อคุณแม่ จะต้องมาเป็นกังวลในตอนนี้ ก็ควรลองหาวิธีที่จะทำให้ลูกกล้าแสดงออก มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น และไม่รู้สึกว่าการที่ต้องพบปะคนอื่นๆ หรือต้องทำอะไรต่อหน้าคนอื่นในเวลาไปงานต่างๆ เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความเขินอาย แต่กลับเป็นการดีเสียอีกที่จะได้มีเพื่อนใหม่ และพบผู้คนอื่นๆ ซึ่งคุณอาจจะใช้วิธีดังต่อไปนี้ช่วยลูกได้

  • ยอมรับว่า การที่มีอาการขี้อายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา อาจเป็นเรื่องยากที่คุณพ่อคุณแม่จะยอมรับ โดยเฉพาะคนที่อยากให้ลูกกล้าแสดงออกมากๆ เราคงต้องเข้าใจเด็กว่า เขาเป็นเด็กอายุเพียง 3 ขวบ จะให้กล้าพูดกล้าทำ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่นั้น อาจจะยังไม่ได้ และการที่คุณมีท่าทาง หรือคำพูดที่ไม่พอใจ หรือบ่นว่าลูก ว่าทำไมถึงขี้อายมาก ก็จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความวิตก และเครียดมากขึ้น ก็จะยิ่งถอยห่างจากคนอื่นๆ ไปอีก ทางที่ดีคุณควรจะให้กำลังใจแก่ลูก และพยายามให้เขารู้สึกว่า คุณเข้าใจเขา และคอยให้กำลังใจแก่เขาเสมอ
  • อย่าพูดต่อหน้าลูกบ่อยๆ ว่า ลูกเป็นคนขี้อาย คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะบอกว่า ตัวเองไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่ แต่หลายท่านอาจทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การพูดกับคนอื่นๆ ต่อหน้าลูกว่า "เขาเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก" หรือคอยบังคับให้ลูก ต้องทำโน่นทำนี่อย่างกล้าหาญ (ทั้งๆ ที่เขาไม่อยากทำ หรือยังไม่พร้อม) ต่อหน้าคนอื่นๆ และเมื่อลูกไม่ยอมทำตาม หรือทำไม่ได้ ก็จะกล่าวว่า "ลูกทำให้ (คุณพ่อ-คุณแม่) หน้าแตก" หรือ "แม่ผิดหวัง หรือเสียใจที่ลูกไม่กล้าแสดงออก" หรือ "ลูกทำไมขี้อายจัง สู้น้องคนนั้นก็ไม่ได้" เด็กวัยขนาดนี้ ย่อมรับรู้ได้ และสามารถเข้าใจทั้งคำพูด และภาษาท่าทางที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออก ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความกลัว ไม่กล้าแสดงออก ที่เขามีอยู่มากขึ้น จนเด็กบางคนยอมรับสภาพนั้นไป และเลือกใช้เป็นข้ออ้าง (ในใจกับตนเอง) ว่าเขาไม่สามารถทำ หรือไม่อยากทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเขาเป็นคนขี้อาย ซึ่งจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และการนับถือตนเองของเด็ก (self-esteem) และยิ่งทำให้ปัญหาขี้อายนี้ยิ่งแย่ลงไปอีก
  • พยายามเข้าใจลูก เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของเขา และคอยให้กำลังใจ ไม่ว่าความขี้อายของลูก จะทำให้เกิดอะไรขึ้น และจะเป็นเหตุการณ์ที่อาจทำให้คุณอึดอัดแค่ไหนก็ตาม ในขณะที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น คุณควรจะรีบหา "ช่องทางออก" เผื่อให้แก่ลูกด้วย เพื่อช่วยให้ลูกไม่รู้สึกว่าอับอายหรือ ล้มเหลว (fail) แต่ก็เช่นกัน คุณควรจะให้โอกาสเธอได้ลองพยายามเอาชนะความขี้อายนี้ด้วยตนเองบ้าง ไม่ควรจะรีบกันเธอออกในทันที การที่จะทำเช่นนี้ได้นั้น จะต้องการคุณพ่อคุณแม่ ที่เข้าใจลูกอย่างจริงๆ และมองออกถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น คุณควรจะหาโอกาสจัดกิจกรรมที่บ้าน หรือที่อื่นๆ ให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่นๆ ที่เขาคุ้นเคย และได้ฝึกทักษะการเล่น และมีปฏิสัมพันธ์กัน (social skills) และคุณสามารถช่วยฝึกสอนลูกให้รู้ว่า จะมีวิธีอย่างไรในการควบคุมตนเอง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น การสูดหายใจลึกๆ, การนึกถึงแต่สิ่งที่ดี, ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาว่า ฯลฯ
  • การซักซ้อม, การเตรียมตัวให้แก่ลูก อีกวิธีหนึ่งที่คุณอาจจะช่วยลูกได้ คือ การเล่นสมมุติแบบตัวละคร (role-playing) โดยการกำหนดบทบาทของตัวละคร และให้คุณ หรือลูกลองเล่นในบทบาท (character) แตกต่างกันไป เช่น เป็น เด็กกล้า เด็กขี้อาย เด็กขี้โมโห หรืออาจใช้ตุ๊กตาหลายตัวมาเล่นกัน แล้วลองถามลูกดูว่า ถ้าตุ๊กตา (ตัวละคร) นี้เป็นเด็กขี้อาย เมื่อพบภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ เขาควรจะทำอย่างไร เขาจะรู้สึกอย่างไร และเขาอยากให้คนอื่นๆ ช่วยเขาอย่างไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ จะรู้ได้ถึงความฉลาดและ sense ของลูก และจะสามารถสอดแทรก แนวทางการแก้ปัญหา และความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ให้แก่ลูกได้ พยายามให้การเล่นนี้ไม่ยาว และซับซ้อนเกินไปนัก และควรให้จบโดยดี ที่พบว่า ทุกคนมีความสุข (happy ending) เช่น ตุ๊กตาขี้อาย (ตัวละคร) นั้นในที่สุด ก็สามารถได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ และเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน ฯลฯ

คุณควรจะมีเวลาเตรียมตัวลูก ก่อนที่จะพาลูกออกงานใหญ่ เล่าถึงลักษณะงาน และเรื่องต่างๆ ที่เด็กจะต้องทำ เพื่อให้เด็กไม่เกิดความตื่นเต้น (ตื่นกลัว) เมื่อต้องออกงานจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ควรจะพาลูกไปยังสถานที่นั้น และพาเดินดูไปทั่วๆ ก่อนถึงเวลาที่ลูกจะต้องพบปะผู้คนอื่นๆ เพื่อให้ลูกได้รู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ และลักษณะงานที่กำลังดำเนินไป ยิ่งถ้าคุณจะต้องปล่อยลูกไว้กับผู้อื่น เนื่องจากคุณเองก็ต้องทำการพบปะผู้อื่น ก็ควรจะให้ลูกได้มั่นใจว่า ลูกจะได้อยู่กับคนที่เขาคุ้นเคย และทำให้เขามีความรู้สึกมั่นใจ และปลอดภัยด้วย (sense of security) เด็กเล็กบางคนยังอาจจะติดตุ๊กตาตัวโปรด หรือผ้าห่มประจำตัว (security doll or blanket) ก็ควรอนุญาตให้เขานำติดตัวไปงานด้วย แต่คุณอาจต้องเตรียมตัวลูกว่า บางครั้งเพื่อนๆ อาจจะมาขอดู หรือเล่นกับตุ๊กตาของลูกบ้าง ซึ่งลูกควรจะยอมให้เพื่อนได้เล่นด้วยบ้าง

ในบางครั้ง ที่มีเด็กคนอื่นๆ เล่นกันอยู่แล้ว และคุณต้องการให้ลูกเข้าร่วมเล่นกับเด็กกลุ่มนั้น คุณควรที่จะเป็นผู้นำลูกเข้าสู่กลุ่ม อาจโดยการกล่าวนำ ขออนุญาตกับเด็กคนอื่นๆ ในกลุ่มที่กำลังเล่นอยู่ว่า ขอให้ ("คุณ")และ "ลูกแก้ว" เข้ามาเล่นด้วยได้ไหมคะ และคุณยืนดูให้ลูกเข้าไปเริ่มเล่นกับเด็กคนอื่นๆ สักพัก จนเห็นว่าเด็กๆ ปรับตัวเข้าหากันได้แล้ว คุณจึงค่อยถอยห่างออกไปทำธุระอื่นของคุณต่อ แต่อย่าหลบหนีไปเฉยๆ คุณควรจะบอกลูก หรือส่งสัญญาณให้ลูกทราบว่า คุณกำลังจะไป และจะกลับมารับเขาในไม่นาน และให้มีผู้อื่นที่ลูกคุ้นเคย คอยดูแลลูกให้ด้วย เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กได้ ในเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าลูกยังคงมีความขี้อาย และกลัวอย่างมากที่จะพบปะผู้คนอื่นๆ แม้เมื่ออายุมากขึ้น (เกิน 3 ขวบขึ้นไป) และคุณได้ลองให้เวลาแก่ลูก ช่วยเขาในการปรับตัว ดังที่แนะนำมาแล้ว และความขี้อายนี้มีผลกระทบในเชิงลบ ต่อการเข้าสังคม หรือการเรียน การเล่นกับเพื่อนๆ ก็ควรพิจารณานำเรื่องลูกเป็นเด็กขี้อายนี้ ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้หาทางช่วยเหลือเด็กต่อไป ซึ่งการทำ counseling จะสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ และเด็กปรับตัวได้ดีขึ้น

รับรองคุณภาพมาตรฐานโดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถูกต้องตามเกณฑ์พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 หรรษาเนอร์สเซอรี่