ลูกคุณเป็นเด็กเลี้ยงยากหรือเปล่า
- เขียนโดย Super User
- เผยแพร่ใน สาระน่ารู้
- อ่าน 1644 เวลา
พื้นอารมณ์ (Temperament)
หมายถึงแนวโน้มของเด็กในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นผลมาจากพันธุ์กรรมและสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์ ส่งผลทำให้ทารกแรกเกิดแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ทั้งที่ถูกเลี้ยงดูโดยผู้เลี้ยงคนเดียวกัน ในบ้านเดียวกันก็ตาม มีอยู่ 3 แบบ ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด ได้แก่
- เด็กเลี้ยงง่าย (easy child) พบร้อยละ 60 จะมีลักษณะอารมณ์ดี กินง่าย นอนง่าย ปรับตัวง่าย เข้าหาผู้อื่นได้ง่าย ไม่มีปฏิกิริยารุนแรง มีสมาธิดีและมีความอดทนสูง
- เด็กเลี้ยงยาก (difficult child) พบร้อยละ 10 จะมีลักษณะอารมณ์หงุดหงิดง่ายและแปรปรวนเร็ว ปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้ยาก กินยาก นอนยาก เข้าหาผู้อื่นยาก มีปฏิกิริยารุนแรงและอดทนต่อความคับข้องใจได้น้อย ลักษณะแบบนี้ทำให้ยากต่อการฝึกระเบียบวินัย และทำให้พ่อแม่ที่ใจเย็นที่สุดเกิดอารมณ์เสียได้ง่าย ดังนั้น พ่อแม่ที่มีลูกแบบเด็กเลี้ยงยากนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่ดีและมีประสิทธิภาพพอจึงจะจัดการกับลูกได้
- กลุ่มที่ปรับตัวช้า (slow to warm up) พบได้ร้อยละ 30 กลุ่มนี้จะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆอยู่ในระดับปานกลาง หลายคนเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กขี้อาย ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจลักษณะของเด็ก ให้เวลาอีกนิดในการปรับตัว ให้โอกาสเพิ่มขึ้นในการฝึกทักษะ สุดท้ายเด็กก็จะพัฒนาต่อไปได้ดี
พื้นอารมณ์เป็นลักษณะที่ถูกกำหนดโดยชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่า พื้นอารมณ์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและมักมีลักษณะคล้ายพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง เราสามารถสังเกตพื้นอารมณ์ของเด็กได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ยิ่งเด็กโตขึ้นก็จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้พื้นอารมณ์จะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดก็ตาม แต่ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม เช่น ในเด็กที่มีพื้นอารมณ์หงุดหงิดง่าย หากพ่อแม่พยายามใจเย็นไม่ยั่วให้เด็กโมโห พูดคุยกับเด็กอย่างมีเหตุผล และใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่เหมาะสมมากกว่าใช้วิธีลงโทษเมื่อทำผิด เด็กก็จะมีอารมณ์หงุดหงิดน้อยลงและควบคุมตนเองได้ดีขึ้นในที่สุด