การหลับนอนของเจ้าตัวน้อยแต่ละช่วงวัย
- เขียนโดย Super User
- เผยแพร่ใน สาระน่ารู้
- อ่าน 1580 เวลา
การหลับของทารกแรกคลอด
ช่วงเดือนแรกๆ ในชีวิตของทารก เราจะเห็นว่า เค้าหลับอยู่เกือบตลอดเวลา แต่เชื่อไหมคะว่า ทุกครั้งที่เค้านอนหลับอยู่นั้น เค้าไม่ได้หลับสนิทจริงๆ เลยสักครั้ง ทั้งยามหลับยามตื่น สมองน้อยๆ ของลูกจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เค้าเรียนรู้ได้แม้ยามหลับ!!! ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะนักวิจัยได้ทำการวัดคลื่นสมองทารกแรกคลอด พบว่าคลื่นสมองของทารกในขณะตื่นและหลับมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากทีม วิจัยจึงแนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่า เวลาลูกหลับไม่จำเป็นต้องทำห้องทั้งห้องให้อยู่ในความเงียบสงบเสมอไป การเปิด-ปิดไฟ เปิดเพลงเบาๆ หรือแม้แต่การพูดคุยกันสามารถทำได้ เพราะเขาอาจกำลังเงี่ยหูฟัง และเรียนรู้ผ่านเสียงที่ได้ยินอยู่ก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นเสียงคุณพ่อคุณแม่ที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้วล่ะก็ ยิ่งจะช่วยทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจขึ้นได้อีกด้วย
การหลับของทารกวัย 2-5 เดือน
หลังจากที่วัดคลื่นสมองของทารกแรกคลอด นักวิจัยได้สังเกตอากัปกิริยาของทารก อายุ 10-20 สัปดาห์ ระหว่างหลับพบว่า เค้าจะไม่อยู่นิ่งเลย หากเป็นการหลับในช่วงกลางวัน ภายในครึ่งชั่วโมงเขาจะเคลื่อนไหวร่างกายเฉลี่ยแล้ว 10.5 นาที และหากเป็นช่วงกลางคืน เขาจะเคลื่อนไหวถึง 24.4 นาทีเลยทีเดียว ถ้า คุณลองสังเกตท่าทางของลูกวัยนี้ในยามหลับ จะพบว่าเค้ามักทำท่าขยับปากคล้ายจะขอนม ขมวดคิ้ว ทำหน้าย่น หรือยิ้ม อาการที่แสดงออกมาเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าเขากำลังฝันดี ฝันร้าย หรือว่าหิวหรอกค่ะ ที่เขามีสีหน้าท่าทางต่างๆ กันออกไปนั้น เป็นหนึ่งในพัฒนาการของกล้ามเนื้อใบหน้าต่างหาก
วัย 6 เดือน หนูฝันเป็นแล้ว
เด็กๆ ฝันหรือไม่ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ใช่ไหมคะ เราจะพาคุณๆ ไปพบคำตอบกัน ทารกจะเริ่มรู้จักการฝัน
- เมื่ออายุ 6 เดือน แน่นอนเขาบอกใครๆ ไม่ได้หรอกว่ากำลังฝัน ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ด้วยว่ามันคืออะไร แต่นักวิจัยได้ใช้การวัดคลื่นสมองเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ และพบว่าคลื่นสมองของทารกที่กำลังฝัน มีเส้นเหมือนคลื่นสมองของผู้ใหญ่ขณะฝันเปี๊ยบ
- พออายุ 3-4 ขวบ ความฝันของเค้าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยนักวิจัยเชื่อว่า ภาพฝันของเด็กวัยนี้จะมีลักษณะเหมือนภาพสไลด์ คือยังไม่ได้เป็นเรื่องราวต่อเนื่อง แต่จะเป็นภาพต่างๆ ทีละภาพ
- จนกระทั่ง 5-6 ขวบ ความต่อเนื่องของภาพฝันจึงเพิ่มขึ้น เรียกว่าเริ่มมีการเชื่อมโยงเรื่องราวของภาพแต่ละภาพเข้าด้วยกัน และพอ 8-9 ขวบ ความฝันจะเป็นเรื่องราวที่ชัดเจนขึ้น และเค้าจะเริ่มฝันเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง หรือฝันในแบบที่มีตัวเองเป็นตัวเอกแล้ว
ขวบครึ่ง…หลับสนิทได้จริงๆ ซะที
อย่างที่บอกค่ะว่า การหลับก็มีขั้นตอนของพัฒนาการ หลังจากหลับทั้งๆ ที่สมองตื่นในวัยทารก พออายุได้ขวบครึ่ง เด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ถึงการหลับสนิทแล้วล่ะค่ะ ความแตกต่างของคลื่นสมองขณะหลับและตื่นของพวกเค้าจะเพิ่มมากขึ้น โดยขณะหลับสมองจะลดความตื่นตัวลง และเค้าก็เริ่มที่จะแยกช่วงเวลากลางวัน กลางคืนออกได้แล้ว ลูกวัยนี้จึงหลับสนิทยามกลางคืนได้นานขึ้น
ไม่อยากนอนกลางวัน
การที่เค้าหลับกลางคืนได้นานขึ้น มีส่วนทำให้เด็กวัยเริ่มเดินได้คล่องนอนกลางวันน้อยลงค่ะ ในบางวันลูกอาจเล่นเพลิน จนไม่ยอมนอนกลางวัน หรือไม่ก็เล่นมากในช่วงค่ำ จนล่วงเลยเวลานอนแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะง่วงซักที บางครั้งลูกจะโยเยรบให้คุณพ่อคุณแม่ทำโน่นทำนี่ให้ก่อน กว่าจะหลับได้ คุณแม่ก็เหนื่อยแสนเหนื่อย
เด็กกลุ่มนี้มักจะหลับตอนกลางวันแค่ครั้งเดียว และหลับในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วย แถมเวลาตื่นขึ้นมายังง่วงงุนอาละวาด โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กที่นอนดึกแล้วตื่นเช้า เด็กพวกนี้มักง่วงอีกในตอนสายและฝืนเล่นไปจนเย็นแล้วก็หมดแรงหลับเอาตอนนั้น ซึ่งจะทำให้เกิดวงจรนอนดึกอีก เพราะเขาจะตื่นในตอนค่ำพร้อมๆ กับพลังงานที่ชาร์จไว้เต็มที่ กรณี นี้คุณแม่ควรถ่วงเวลาการนอนช่วงสายของลูกไว้ให้นานที่สุด คืออย่าให้ลูกนอนก่อน 11.00 น. ทางที่ดีควรให้เข้านอนหลังจากรับประทานอาหารกลางวัน และให้ลูกได้นอนสัก 2 ชั่วโมง เพื่อกันไม่ให้เขาง่วงหลับในช่วง 5-6 โมงเย็น ซึ่งจะทำให้ลูกกลายเป็นลูกนกฮูกไม่ยอมหลับยอมนอนยามกลางคืนได้ค่ะ
วินัยการนอน อีกเรื่องที่ต้องฝึก
สำหรับ พวกเด็กๆ แล้ว การนอนไม่ใช่แค่การพักผ่อน เพราะฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งออกมามากที่สุดก็ในช่วงที่พวกเขาหลับสนิท แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่พอถึงเวลาที่จะต้องนอนกลับไม่อยากนอน ทั้งยังร้องไห้โยเย หรือรบเร้าขอเล่นต่อ หากคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจ ปัญหานี้คงไม่จบง่ายๆ แน่ มาฝึกวินัยเรื่องการนอนให้ลูกกันดีกว่า เริ่มจากพอได้เวลานอนควรปิดไฟดวงใหญ่ แล้วเปิดไฟสลัวๆ พาลูกเข้านอนพร้อมกับร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ฟัง พอนิทานจบปุ๊บก็บอกลูกว่า ได้เวลานอนแล้วนะ จากนั้นควรงดการพูดคุย ความเงียบจะทำให้ลูกหลับได้ในไม่ช้า เด็กส่วนมากจะมีตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดที่ต้องกอดเวลานอน คุณแม่ควรพาลูกเข้านอนพร้อมเจ้าตุ๊กตาตัวโปรดด้วย การฝึกให้ลูกเข้านอนเมื่อถึงเวลาที่ต้องนอน ช่วงแรกๆ อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย หรือไม่ก็เจอปัญหาที่เด็กขัดขืนไม่ยอมนอนนิ่งๆ บนที่นอน แต่หากคุณทำได้อย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะค่อยๆ คุ้น และหากคุณทำได้สำเร็จก็เท่ากับว่าคุณได้สร้างให้เขามีวินัยรู้จักการกิน-นอนเป็นเวลา